EXIM BANK และ ibank ผนึกกำลังหน่วยงานพันธมิตรภาครัฐ ภาคเอกชน ยกระดับผู้ประกอบการสินค้าฮาลาลสู่การส่งออก

Read Time:9 Minute, 28 Second

EXIM BANK และ ibank ใช้จุดแข็งและบทบาทสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐทำหน้าที่ “มากกว่าธนาคาร” ผนึกกำลังหน่วยงานพันธมิตรภาครัฐ ภาคเอกชน ขยายความร่วมมือเพื่อยกระดับระบบนิเวศของอุตสาหกรรมฮาลาลไทยในทุกมิติ ภายใต้บันทึกข้อตกลงความร่วมมือ “โครงการส่งเสริมและสนับสนุนผู้ประกอบการสินค้าฮาลาลสู่การส่งออก” ที่จะขับเคลื่อนการเติบโตของการส่งออกอุตสาหรรมฮาลาลไทยในปีนี้

ดร.รักษ์ วรกิจโภคาทร กรรมการผู้จัดการ ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM BANK) ดร.ทวีลาภ ฤทธาภิรมย์ กรรมการและผู้จัดการ ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย (ibank) พล.ต.ต.สุรินทร์ ปาลาเร่ เลขาธิการคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย นายสมัย เจริญช่าง กรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทยและประธานคณะกรรมการอิสลามประจำกรุงเทพมหานคร นายไพศาล พรหมยงค์ กรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย และประธานคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดสมุทรปราการ นางศิริเพ็ญ เกียรติเฟื่องฟู รองผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม ปฏิบัติหน้าที่ผู้อำนวยการศูนย์อุตสาหกรรมฮาลาลไทย นางนิตยา พิระภัทรุ่งสุริยา ที่ปรึกษาสถาบันอาหาร นายพิตรพิบูล ธีร์จันทึก ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ผศ.ดร.อัสมัน แตอาลี ผู้อำนวยการสถาบันฮาลาล มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ “โครงการส่งเสริมและสนับสนุนผู้ประกอบการสินค้าฮาลาลสู่การส่งออก” โดยมีผู้แทนจุฬาราชมนตรี นายประสิทธิ์ มะหะหมัด เลขานุการจุฬาราชมนตรี ร่วมเป็นสักขีพยาน เพื่อส่งเสริมศักยภาพและสนับสนุนผู้ประกอบการ SMEs ไทยให้สามารถส่งออกสินค้าฮาลาลไปยังตลาดต่างประเทศได้ ผ่านการบูรณาการความร่วมมือในการส่งเสริมและพัฒนาองค์ความรู้ทางวิชาการด้านฮาลาล ทิศทางการค้าและการลงทุนระหว่างประเทศในโลกยุคใหม่ การเข้าถึงการขอเครื่องหมายรับรองมาตรฐานฮาลาล การขยายโอกาสทางการค้าผ่านกิจกรรมจับคู่ธุรกิจและการออกงานแสดงสินค้าในประเทศและต่างประเทศ ตลอดจนการเข้าถึงแหล่งเงินทุนและเครื่องมือทางการเงินเพื่อเสริมศักยภาพของธุรกิจและการบริหารความเสี่ยงทางการค้าและการลงทุนระหว่างประเทศ ณ โรงแรมอัล มีรอซ กรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 6 สิงหาคม 2567

ดร.ทวีลาภ ฤทธาภิรมย์ กรรมการและผู้จัดการ ibank เปิดเผยว่า ในช่วงระยะเวลา 10 ปีที่ผ่านมา ตั้งแต่ พ.ศ.2555 ถึง 2565 มีรายงานการเติบโตของการใช้จ่ายผู้บริโภคจากตลาดฮาลาลเพิ่มสูงขึ้นกว่า 40% จาก 1.62 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ ไปถึง 2.29 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งการเติบโตนี้เกิดจากแรงผลักดันของการขยายประชากรมุสลิมที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยวันนี้มีเกือบ 2,000 ล้านคนทั่วโลก โดยกลุ่มบริษัทระดับโลก ตั้งแต่ BRF บริษัทอาหารยักษ์ใหญ่ของโลก เนสท์เล่ ไปจนถึง Nike ลงทุนและพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่หลากหลายอย่างต่อเนื่องเพื่อตอบโจทย์ตลาดฮาลาล นอกจากนี้สถาบันเพื่อการพัฒนาในกลุ่ม OIC ได้แก่ The Islamic Development Bank (ISDB) หรือ The Islamic Centre for Development of Trade (ICDT) พร้อมด้วยหน่วยงานสำคัญขององค์กรสหประชาชาติ เช่น UNHCR  รวมถึง World Bank ก็ให้ความสนใจกับการเงินอิสลามในมิติด้านสังคม ประเทศไทย โดยรัฐบาลก็เล็งเห็นการขยายตัวของตลาดฮาลาลโลก ซึ่งจะเป็นโอกาสสำคัญของอุตสาหกรรมฮาลาลไทย จึงทำให้มีแนวคิดจัดตั้งหน่วยงานหรือคณะทำงานต่าง ๆ ขึ้นเพื่อขับเคลื่อนนโยบายพัฒนาอุตสาหกรรมฮาลาลของประเทศเป็นก้าวสำคัญของประเทศไทย โดยในวันนี้ ibank และ EXIM BANK ได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินงานด้านฮาลาลครอบคลุมทุกภาคส่วนของประเทศ เพื่อตกลงร่วมกันผลักดันส่งเสริมและสนับสนุนผู้ประกอบการสินค้าฮาลาลไทยสู่ตลาดโลก และจากบทบาทของ ibank ภายใต้ความร่วมมือนี้ ibank ถือเป็นหนึ่งในระบบนิเวศฮาลาลที่สำคัญ การเป็นสถาบันการเงินที่ฮาลาลกลายเป็นหนึ่งกลไกสำคัญที่ต้องรับผิดชอบต่อการพัฒนาอุตสาหกรรมฮาลาลไทย ด้วยการเป็นที่พึ่งของแหล่งเงินทุนที่ฮาลาลตั้งแต่ต้นน้ำ เพื่อจะไปหล่อเลี้ยง เกื้อกูล ธุรกิจฮาลาลต่างๆ ให้เติบโตสู่เป้าหมายประเทศต่อไป

ดร.รักษ์ วรกิจโภคาทร กรรมการผู้จัดการ EXIM BANK กล่าวว่า ตลาดสินค้าฮาลาลได้รับความนิยมเพิ่มมากขึ้นไม่จำกัดเฉพาะในกลุ่มผู้บริโภคชาวมุสลิม แต่ยังขยายวงกว้างไปสู่กลุ่มผู้บริโภคอื่น ๆ ที่ไม่ใช่ชาวมุสลิมด้วย นับเป็นตลาดขนาดใหญ่ที่เต็มไปด้วยโอกาสอีกมากสำหรับผู้ประกอบการทั่วโลกรวมทั้งไทย โดยไทยเป็นผู้ส่งออกอาหารฮาลาล รายใหญ่อันดับที่ 15 ของโลกและเป็นจุดหมายท่องเที่ยวอันดับ 4 ของนักท่องเที่ยวชาวมุสลิมทั่วโลก (ในกลุ่มประเทศ Non-OIC) ที่สนใจสินค้าอาหารและการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมของไทยเป็นอย่างมาก ขณะที่ผู้ส่งออกอาหารฮาลาลรายใหญ่ของโลกที่ส่งออกไปกลุ่มองค์การความร่วมมืออิสลาม (OIC) ได้แก่ บราซิล อินเดีย สหรัฐฯ รัสเซีย และอินโดนีเซีย ส่วนผู้นำเข้าอาหารฮาลาลในกลุ่ม OIC รายใหญ่ของโลก ได้แก่ อินโดนีเซีย มาเลเซีย ตุรกี ซาอุดีอาระเบีย และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ผู้ประกอบการไทยจึงควรยกระดับการพัฒนาสินค้าฮาลาล โดยเฉพาะอาหาร ซึ่งประเทศไทยมีศักยภาพและอัตลักษณ์ที่โดดเด่นเป็นที่นิยมระดับโลก ไม่ว่าจะเป็นอาหารฮาลาลโดยธรรมชาติ (Natural Halal) เช่น ผัก ผลไม้ หรืออาหารที่ได้รับการรับรองตามหลักศาสนาอิสลามว่าชาวมุสลิมสามารถบริโภคได้ (Halal by Certification) ซึ่งจะได้รับการยอมรับในระดับสากลถึงความสะอาด ไม่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์และเลือดสัตว์ถูกต้องตามหลักศาสนา และไม่ทารุณสัตว์ เป็นต้น EXIM BANK จึงพร้อมสานพลังกับหน่วยงานพันธมิตร สร้างผู้ส่งออกสินค้าฮาลาลของไทยที่แข่งขันได้ในตลาดโลก ผ่านการเติมความรู้ เติมโอกาส และเติมเงินทุน รวมถึงเครื่องมือทางการเงินที่ช่วยบริหารจัดการความเสี่ยงด้านการค้าและการลงทุนระหว่างประเทศ ทั้งนี้ EXIM BANK จัดให้มีสิทธิพิเศษด้านประกันการส่งออกให้แก่ลูกค้าของ ibank ที่เป็นชาวมุสลิม และสินเชื่อให้แก่ผู้ประกอบการไทยทั่วไปที่ต้องการเงินทุนจาก EXIM BANK เพื่อเริ่มต้นส่งออกสินค้าฮาลาลหรือขยายธุรกิจอย่างเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมในอัตราพิเศษ เพื่อสร้างนักรบเศรษฐกิจไทยในตลาดโลกและยกระดับสินค้าอาหารไทยสู่สากล สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลในการส่งเสริมอุตสาหกรรมฮาลาลสู่ ASEAN Halal Hub ภายในปี 2571

ภายใต้ความร่วมมือนี้ EXIM BANK ibank และหน่วยงานพันธมิตรรวม 14 หน่วยงาน โดย 9 หน่วยงานลงนามในวันนี้ และอีก 5 หน่วยงาน ได้แก่ สำนักงานคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัด ยะลา ปัตตานี นราธิวาส สงขลา และสตูล จะร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ “โครงการส่งเสริมและสนับสนุนผู้ประกอบการสินค้าฮาลาลสู่การส่งออก” ภายในงาน WORLD HAPEX 2024 จังหวัดสงขลา ทุกหน่วยงานมีบทบาทในการเป็น Business Partner เคียงข้างผู้ประกอบการสินค้าฮาลาลตลอดวงจรธุรกิจ เพื่อติดอาวุธผู้ประกอบการไทยให้พร้อมออกไปแข่งขันในตลาดสินค้าฮาลาลได้อย่างประสบความสำเร็จ โดยมุ่งหวังว่า “โครงการส่งเสริมและสนับสนุนผู้ประกอบการสินค้าฮาลาลสู่การส่งออก” จะสร้างชุมชนนักธุรกิจระหว่างประเทศระดับแนวหน้า โดยยกระดับศักยภาพของนักธุรกิจ และการสร้าง Network ระหว่างพันธมิตร สามารถต่อยอดธุรกิจ องค์ความรู้ ประสบการณ์ และพัฒนาช่องทางการส่งออกสินค้าฮาลาลจากโครงการนี้ พร้อมเติบโตเป็นนักรบเศรษฐกิจที่แข็งแกร่ง เพื่อเป็นฟันเฟืองสำคัญในการขับเคลื่อนการเติบโตของภาคการส่งออกและการเติบโตทางเศรษฐกิจและสังคมของไทย

ผู้ประกอบการที่เข้าร่วมโครงการ สามารถสมัครขอรับบริการด้านสินเชื่อเพื่อใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียน หรือขยายการลงทุนจาก EXIM BANK สำหรับ SMEs ที่เป็นผู้ส่งออกและผู้ผลิตเพื่อผู้ส่งออก ได้แก่ สินเชื่อเอ็กซิม เริ่มต้นส่งออก อัตราพิเศษเริ่มต้น 5.35% ต่อปี (Prime Rate – 1%) วงเงินสูงสุด 3 ล้านบาท ผู้เข้าร่วมโครงการนี้จะได้รับส่วนลดปีแรก 0.25% ต่อปี สินเชื่อ EXIM Green Start อัตราพิเศษเริ่มต้น 4.10% ต่อปี (Prime Rate – 2.25%) วงเงินสูงสุด 200 ล้านบาท ผู้เข้าร่วมโครงการนี้จะได้รับส่วนลด 6 เดือนแรก 0.25% ต่อปี และสินเชื่อเอ็กซิมเติมทุนส่งออก อัตราพิเศษเริ่มต้น 4% ต่อปี วงเงินสูงสุดสำหรับ SMEs 20 ล้านบาท ผู้เข้าร่วมโครงการนี้จะได้รับส่วนลด 6 เดือนแรก 0.25% ต่อปี รวมถึงยกเว้นค่าธรรมเนียมแรกเข้า สินเชื่อเพื่อธุรกิจที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม อัตราพิเศษเริ่มต้น 3.85% ต่อปี วงเงินสูงสุด 200 ล้านบาท และกรมธรรม์ประกันส่งออก EXIM for Small Biz เพื่อคุ้มครองความเสี่ยงจากการไม่ได้รับชำระเงินค่าสินค้าจากผู้ซื้อในต่างประเทศ ฟรี! ค่าเบี้ยประกัน 1 ราย มูลค่า 1,800 บาท สำหรับการรับประกันวงเงินผู้ซื้อ 0.30 ล้านบาท ด้วยเทอมการชำระเงิน 90 วัน หรือรับส่วนลดค่าประเมินความเสี่ยงผู้ซื้อตามเงื่อนไขของธนาคาร และกรณีที่ได้รับการรับรองมาตรฐานสินค้าฮาลาลจะได้รับสิทธิประโยชน์เพิ่มเติม Voucher มูลค่าสูงสุด 2,000 บาท เพื่อเป็นส่วนลดค่าเบี้ยประกันบริการประกันการส่งออก EXIM for Small Biz สำหรับการทำประกันผู้ซื้อรายที่ 2 หรือส่วนลดค่าประเมินความเสี่ยงผู้ซื้อ จำนวน 1 ราย

สำหรับ  ibank ได้ร่วมขับเคลื่อนยุทธศาตร์ IGNITE THAILAND ออกสินเชื่อ IGNITE HALAL สนับสนุนทางการเงินเสริมสภาพคล่อง และการลงทุนให้ผู้ประกอบการธุรกิจฮาลาล ที่เป็นกลุ่มธุรกิจการท่องเที่ยว กลุ่มธุรกิจการแพทย์และสุขภาพ และกลุ่มธุรกิจอาหาร หวังผลักดันธุรกิจ SMEs ที่ไม่มีหลักทรัพย์ค้ำประกัน ให้สามารถเข้าแหล่งเงินทุนฮาลาล ให้วงเงินสินเชื่อขั้นต่ำ 1 ล้านบาท สูงสุดไม่เกิน 5 ล้านบาท ผ่อนนานสูงสุด 7 ปี  ไม่ต้องใช้หลักทรัพย์ค้ำประกัน โดยมี บสย.ค้ำประกันวงเงินสินเชื่อ พิเศษ! รัฐบาลสนับสนุนค่าธรรมเนียมค้ำประกันให้นานถึง 3 ปี ตามข้อกำหนดและเงื่อนไขของ บสย. และสำหรับลูกค้าที่มีสถานประกอบการในพื้นที่ 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ibank มอบส่วนลดพิเศษ 3 เดือนแรก คิดอัตราผ่อนชำระเพียง 50% ของค่างวดปกติ

IGNITE HALAL เป็นโครงการสินเชื่อเพื่อสนับสนุนทางการเงินให้กับผู้ประกอบการ SMEs ใน 3 กลุ่มธุรกิจ ได้แก่ กลุ่มธุรกิจการท่องเที่ยว กลุ่มธุรกิจอาหาร และกลุ่มธุรกิจการแพทย์และสุขภาพ หรือเป็น Supply Chain ของกลุ่มธุรกิจข้างต้น เช่น ผู้ผลิต ผู้จัดจำหน่าย ค้าปลีก ค้าส่ง และร้านค้า ที่ต้องการแหล่งเงินทุนฮาลาลเพื่อนำไปลงทุนในการขยายกิจการในรูปแบบวงเงินสินเชื่อแบบมีระยะเวลา (Term Financing)  และเพื่อเสริมสภาพคล่องในรูปแบบวงเงินเบิกถอนเงินสด (Islamic O/D) โดยคุณสมบัติผู้ขอสินเชื่อ เป็นผู้ประกอบธุรกิจที่เป็นบุคคลธรรมดานับถือศาสนาอิสลาม หรือ นิติบุคคลที่มีผู้ถือหุ้นนับถือศาสนาอิสลามไม่น้อยกว่าร้อยละ 20 ของทุนที่ชำระแล้ว หรือ เป็นผู้ประกอบธุรกิจที่มีผลิตภัณฑ์และบริการที่ได้รับเครื่องหมายรับรองฮาลาลเรียบร้อยแล้ว หรือ เป็นผู้ประกอบการที่มีสถานประกอบการ/โครงการ/การลงทุนที่ไม่ขัดต่อหลักชะรีอะฮ์ ที่อยู่ในพื้นที่จังหวัด สตูล สงขลา ปัตตานี ยะลา นราธิวาส เพื่อตอกย้ำพันธกิจของ ibank ในการสนับสนุนธุรกิจฮาลาลตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ โครงการข้างต้นของทั้งสองหน่วยงานจะช่วยให้ SMEs ไทยมีโอกาสผันตัวเป็นผู้ส่งออกได้มากขึ้น ควบคู่กับการพัฒนาสินค้าอาหารไทยสู่มาตรฐานสากล ท่ามกลางปัจจัยท้าทายและโอกาสใหม่ ๆ ทางธุรกิจในโลกการค้าปัจจุบัน  โดยใช้จุดแข็งของประเทศไทยในการพัฒนาสินค้าอาหารให้ได้มาตรฐานสากล เจาะตลาดที่มีศักยภาพและกำลังซื้อสูง โดยชาวมุสลิมทั่วโลกมีอยู่ราว 2,000 ล้านคน มากถึง 1 ใน 4 ของประชากรโลก กระจายอยู่ในภูมิภาคต่างๆ อีกทั้งเศรษฐกิจของกลุ่มประเทศมุสลิมหลายประเทศเติบโตสูงกว่าตลาดหลัก ความร่วมมือระหว่างหน่วยงานในครั้งนี้จะช่วยให้ผู้ประกอบธุรกิจอาหารฮาลาล และธุรกิจที่เกี่ยวข้องมีจำนวนเพิ่มขึ้น โดยมี EXIM BANK และ ibank เป็น Business Partner อยู่เคียงข้างตลอดวงจรธุรกิจ ขับเคลื่อนการพัฒนาในมิติเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ในระดับท้องถิ่นและระดับประเทศ

Previous post เนสกาแฟ โกลด์ เครมมา จับมือ แจ็คสัน หวัง ในแคมเปญใหม่ ชวนคอกาแฟสร้าง ‘โกลด์เด้น โมเมนต์’ กับที่สุดของกาแฟผงละเอียดสีทอง
Next post เปอโยต์ ไลอ้อน ออโตโมบิล ฉลองวันแม่สุดปัง! ทดลองขับและจอง รถยนต์ เปอโยต์ วันนี้ รับประกันคุณภาพ 7 ปี พร้อมของขวัญมากมาย
Social profiles