จุกแน่นแสบร้อนท้อง… ใช่โรคกระเพาะจริงหรือไม่ ต้องทำอย่างไร?

Read Time:3 Minute, 7 Second

หลาย ๆ คน คงเคยมีอาการจุกแน่นลิ้นปี่ แสบร้อน เป็น ๆ หาย ๆ แล้วคิดว่าตัวเองเป็นโรคกระเพาะ กินยารักษามาเป็นปี แต่ไม่ยอมหายสักที จริง ๆ แล้วเป็นอะไรกันแน่ ไม่ใช่มะเร็งใช่มั้ย จะรู้ตัวสายเกินไปหรือไม่

โรคกระเพาะ (dyspepsia) ที่หลาย ๆ คนเข้าใจกัน คือ อาการจุกแน่นไม่สบายท้องในช่องท้องส่วนบน หรือใต้ลิ้นปี่ บางคนอาจจะมีอาการแสบร้อนร่วมด้วย และมักจะสัมพันธ์กับช่วงเวลาอาหาร เช่น ช่วงเวลาท้องว่างหลังตื่นนอน หรือดึก ๆ ก่อนเข้านอนและหลังอาหารในผู้ป่วยบางราย

ในผู้ป่วยที่ไม่ได้มีสัญญาณอันตราย เช่น อาเจียนเป็นเลือด อุจจาระสีดําผิดปกติ ภาวะซีด กินอาหารได้น้อยกว่าปกติหรืออิ่มเร็วกว่าปกติ นํ้าหนักตัวลดลงโดยไม่ทราบสาเหตุ อาเจียนบ่อยหรือมีประวัติญาติสายตรงเป็นมะเร็งกระเพาะอาหาร จะสามารถรักษาเบื้องต้นได้ ด้วยการทานยาลดกรดชนิด PPI เช่น omeprazole, esomeprazole, lansoprazole เป็นต้น เป็นระยะเวลา 4-8 สัปดาห์ (อ้างอิงตาม ‘แนวทางการวินิจฉัยและรักษา dyspepsia ในประเทศไทย พ.ศ. 2561’ โดยสมาคมแพทย์ระบบทางเดินอาหารแห่งประเทศไทย)

โดยถ้าอาการจุกแน่นหรือแสบร้อนใต้ลิ้นปี่ไม่ดีขึ้น หลังจากการทานยาเบื้องต้น ผู้ป่วยจำเป็นจะต้องได้รับการตรวจวินิจฉัยเพิ่มเติม เช่น อัลตร้าซาวด์ช่องท้อง ตรวจ CT scan ส่องกล้องทางเดินอาหาร ตรวจการทำงานของกระเพาะและหลอดอาหาร เป็นต้น ตามดุลพินิจของแพทย์ผู้ทำการรักษา ในการวิเคราะห์หาสาเหตุจากโรคอื่น ๆ เพื่อลดโอกาสการเกิดภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆ ที่ตามมา ซึ่งโรคที่สามารถพบเจอได้ ได้แก่  

–        โรคที่ไม่รุนแรง ที่สามารถพบได้บ่อย และสามารถรักษาได้ด้วยยา เช่น แผลในกระเพาะอาหาร, กรดไหลย้อน, กระเพาะอาหารติดเชื้อ เป็นต้น

–      โรคที่ไม่รุนแรงแต่ต้องได้รับการตรวจรักษาที่เฉพาะเจาะจงหรือการผ่าตัด เช่น นิ่วในถุงน้ำดี ไส้เลื่อนกระบังลม เป็นต้น

–        โรคที่รุนแรง เช่น โรคมะเร็งกระเพาะอาหาร, หลอดอาหาร, ตับ, ตับอ่อน ตับอ่อนอักเสบ โรคหัวใจขาดเลือด เส้นเลือดแดงโป่งพอง เป็นต้น

เมื่อได้ทำการตรวจวินิจฉัยอื่น ๆ แล้ว และไม่พบความผิดปกติใด ๆ ผู้ป่วยจะได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคกระเพาะ โดยจะรักษาด้วยการทานยาลดกรดต่อเนื่อง พร้อมทั้งจำเป็นต้องปรับพฤติกรรมอย่างเคร่งครัด ได้แก่

1.         งดยาแก้ปวด หรือยาแก้อาการอักเสบที่กัดกระเพาะ เช่น ยา ibuprofen, ponstan, naproxen, aspirin เป็นต้น

2.         ถ้ามีความจำเป็นจะต้องทานยาที่กัดกระเพาะ เช่น aspirin จะต้องทานยาลดกรดร่วมด้วยเสมอ

3.         กินอาหารให้ตรงเวลาและงดการกินอาหารระหว่างมื้อ เนื่องจากกระเพาะอาหารจะผลิตน้ำย่อยออกมาเป็นเวลา ถ้ากินอาหารไม่ตรงเวลา จะทำให้น้ำย่อยกัดกระเพาะได้

4.         หากไม่สามารถกินอาหารตรงเวลาได้ ให้ติดนม หรือขนมไว้กินในเวลาฉุกเฉิน เพื่อลดอาการปวดท้อง

5.         เลี่ยงอาหารรสจัด เผ็ดจัด และเปรี้ยวจัด บางคนอาจจะทานได้เล็กน้อย แต่ใครที่ยังมีอาการปวดรุนแรง จำเป็นจะต้องงดการกินอาหารรสจัดทุกชนิด

6.         เลี่ยงการดื่มน้ำอัดลม แอลกอฮอล์ ชา กาแฟ

7.         เลิกบุหรี่ นอกจากลดการอักเสบของกระเพาะ ยังลดโอกาสการเกิดโรคมะเร็งกระเพาะและหลอดอาหารด้วย

ผู้สนใจสามารถปรึกษาหรือสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมหรือสอบถามเกี่ยวกับเรื่องของกระเพาะอาหารได้ที่ เพจ Facebook : หมอโจอี้ นพ.ศิรสิทธิ์ เลาหทัย ศัลยแพทย์เฉพาะทางผ่าตัดส่องกล้อง หรือ Line :@dr.sirasit  หรือ Website : www.doctorsirasit.com

Previous post ม.รังสิต มุ่งสู่การใช้พลังงานสะอาด ลดการปล่อยคาร์บอน 
Next post กรุงเทพประกันชีวิต จับมือ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ม.ธรรมศาสตร์ ปั้นคนเก่งหนุนอุตสาหกรรมประกันชีวิตเติบโต
Social profiles