บริษัท ไอ.ซี.ซี. อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) ร่วมกับ มูลนิธิอุทกพัฒน์ฯ ยกอาสากว่า 100 ชีวิต ลงพื้นที่ปลูกต้นไม้ ณ ชุมชนเพชรน้ำหนึ่ง จ.เพชรบุรี

Read Time:7 Minute, 21 Second

กว่า 7 ปีที่ บริษัท ไอ.ซี.ซี. อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) ในเครือสหพัฒน์ ร่วมกันสนับสนุนการดำเนินงานของมูลนิธิอุทกพัฒน์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ อย่างต่อเนื่อง โดยอยู่ภายใต้การดูแลของ ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล  เพื่อร่วมสืบสานพระปณิธาณตามแนวบริหารจัดการน้ำของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร

จากการดำเนินงานร่วมกันมาของบริษัท ไอ.ซี.ซี. อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด(มหาชน), มูลนิธิอุทกพัฒน์ และเกษตรกรในพื้นที่ชุมชนเพชรน้ำหนึ่ง จ.เพชรบุรี ส่งผลให้กลุ่มเกษตรกร สามารถผันตัวเป็นผู้ประกอบการได้อย่างเต็มตัว มีผลผลิตทางการเกษตรที่ยั่งยืน สามารถบริหารจัดการงานได้อย่างเป็นระบบ ทั้งในเรื่องผลผลิตที่ต่อเนื่องและหลากหลาย สถานที่แพ็คและจัดเก็บผลผลิตที่ได้มาตรฐาน ช่วยยืดอายุความสดใหม่ และสามารถส่งผลผลิตจำหน่ายในร้าน Golden Place เองได้โดยไม่ต้องผ่านพ่อค้าคนกลาง

ในปีที่ 7 นี้.. เพื่อเป็นการต่อยอดความยั่งยืนสู่พื้นที่ชุมชน คณะผู้บริหาร และพนักงาน บริษัท ไอ.ซี.ซี. อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด(มหาชน) ได้ร่วมแรงร่วมใจลงพื้นที่ปลูกต้นไม้ร่วมกับ มูลนิธิอุทกพัฒน์ฯ และเกษตรกรในพื้นที่ของชุมชนเพชรน้ำหนึ่ง ตำบลกลัดหลวง อำเภอท่ายาง จังหวัดเพชรบุรี   โดยปลูกหญ้าแฝกรอบสระจำนวน 25,000 กล้า และปลูกต้นไม้ โดยเลือกปลูกไม้ 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่าง ได้แก่ ไม้ใช้งาน หรือไม้เศรษฐกิจ หรือไม้สร้างบ้าน /ไม้กิน หรือไม้ผล/ ไม้ฟืน และ ประโยชน์ที่ 4 คือ การรักษาและอนุรักษ์ดิน ไม่ว่าจะเป็น โพธิ์ ตะแบก ประดู่ ไม้แดง พยูง ยางนา สักทอง และมะม่วง พร้อมติดตั้งระบบกระจายน้ำที่ใช้ดูแลต้นไม้ทุกต้นได้อย่างต่อเนื่อง เพื่อฟื้นฟูบริเวณพื้นที่รอบสระระยะทาง700 เมตร ซึ่งถือเป็นแหล่งน้ำสำคัญที่นำไปใช้ทำการเกษตรของสมาชิกชุมชน เพื่อเพิ่มพื้นที่สีเขียว รักษาหน้าดิน ป้องกันการพังทลายของตลิ่ง ช่วยให้พื้นที่สระโดยรอบร่มรื่น 

ภายในงานยังได้ฟังโอวาทจาก ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล ประธานกรรมการมูลนิธิอุทกพัฒน์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ ซึ่งได้กล่าวถึง หลักสำคัญของความสำเร็จงานพัฒนาแหล่งน้ำและพัฒนาคุณภาพชีวิตชุมขน” เอาไว้ว่า “ในฐานะที่ดูแลชุมชนเพชรน้ำหนึ่งแห่งนี้ ความสำเร็จที่เราเห็นกันที่นี่ เป็นหนึ่งในหลายโครงการที่ทำตามแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร อยากสรุปให้เพื่อเป็นแนวทางของความเข้าใจ ว่าความสำเร็จนั้นขึ้นอยู่ 5 ปัจจัยด้วยกัน

1. ชุมชนร่วมมือร่วมใจ เจ้าของพื้นที่ เจ้าของชะตาชีวิต นั่นก็คือ ชาวชุมชนทั้งหลาย ถ้าจะหลุดพ้นจากความทุกข์ยาก ใจคุณ มือคุณ ต้องตัดสินใจ ต้องลงมือก่อน ต้องตัดสินใจ เราเชื่อ 2 มือและสมอง 

2. มีผู้นำ มีหัวหน้าที่ดี ผู้นำทางธรรมชาติมันจะเกิดขึ้นเอง อย่างคุณซอ ดำรัสสิริ ทิ้งชีวิตในกรุงเทพเพื่อมาอยู่ที่นี่ มาทำตรงนี้ มีความสุขตรงนี้ 

3. มีพี่เลี้ยงที่ดี ผู้เชี่ยวชาญคอยให้คำแนะนำ มีข้อมูลวิชาการ มี GPS มีภาพถ่ายทางดาวเทียมให้นำมาใช้ ไม่ใช่นึกอยากจะขุดสระก็ขุด พอขุดเสร็จแล้วบอกไม่มีน้ำเพราะไปขุดในที่ที่น้ำไม่ลง

4. มีทุนจากผู้สนับสนุนจากองค์กรที่ต้องการคืนกำไรสู่สังคม เพราะถ้าเอากำไรไปหมดแล้ว แต่สังคมไม่อยู่ ลูกค้าคุณก็จะอยู่ไม่ได้ คุณสมพลกับผมเจอกันครั้งแรกคือมาเชิญผมไปงานนกเงือก หลังจากนั้นก็ชวนไปเป็นประธานปล่อยช้าง ผมไปเป็นประธานปล่อยช้างเป็น 100 ตัว และตอนนี้ก็ได้ลูกกลับมา 40 ตัว และตอนนี้ผมกับคุณสมพลก็มาทำป่าด้วยกัน 

5. มีภาคี รู้-รัก-สามัคคี ต้องมีความเข้าใจ เข้าถึง พัฒนา เข้าใจปัญหา เรียนรู้และแก้ปัญหา >  เข้าถึงการปฏิบัติ นำสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน ซึ่งผลสุดท้ายชีวิตเราก็จะรอด

คนยุคนี้ ถูกล่อด้วยเงินซึ่งเป็นของปลอม เพราะคนกินเงินเข้าไปไม่ได้เลยต้องเอาไปแลกสิ่งต่างๆมา ดั่งคำที่ว่า เงินตราเป็นของมายา ข้าวปลาเป็นของกิน” พระเจ้าอยู่หัวถึงได้ใช้ระยะเวลาตลอด 70 ปี ทำให้การผลิตของเรายืนอยู่ได้ทั้ง น้ำ ดิน ป่า” 

และในวันนี้เราจะมาปลูกต้นไม้กัน ซึ่งเป็นการอนุรักษ์ไม้ถิ่น เพราะแต่ละแห่ง แต่ละสถานที่ก็มีข้อดีของตัวเอง โดยจะต้องคำนึงถึง สังคม ภูมิประเทศ ธรรมชาติ” เพราะทุกวันนี้เราทุกคนกำลังทำลายโลกอยู่ เพราะการหายใจเอาออกซินเจนเข้าไป และคายคาร์บอนไดออกไซด์ออกมามันก็คือการทำลายโลกแล้ว สิ่งที่จะมาช่วยตรงนี้ได้คือต้นไม้ เพราะจะช่วยฟอกคาร์บอนไดออกไซด์ได้ ถ้าไม่มีต้นไม้ออกซิเจนเราจะน้อยลง เราจะต้องสูดคาร์บอนไดออกไซด์เข้าไป ให้สงสารลูกหลานที่ต้องมารับมรดกแผ่นดินนี้ต่อ ไม่ต้องคิดใหญ่ว่าจะต้องทำเพื่อประเทศชาติ ให้คิดแค่ว่าเราจะทำเพื่อตัวเอง เพื่อส่งต่อให้ลูกหลานของเราต่อไป ซึ่งนี่แหล่ะคือ ความยั่งยืน

ยุคนี้อยู่อย่างสบายพอสมควร ยึดความสุขเป็นที่ตั้ง ส่งต่อแผ่นดินนี้ให้ลูกเราต่อ และเค้ารักษาต่อเพื่อส่งต่อไปไม่รู้จบ อันนั้นคือความยั่งยืนนะครับ

หลังจากนั้นพนักงานกว่า 100 ชีวิต ต่างแบ่งออกเป็นกลุ่มย่อย ทั้งกลุ่ม A B C และ D เพื่อกระจายกำลังปลูกต้นไม้ทั่วบริเวณรอบสระ พร้อมดูการสาธิตการผสมดิน การทำปุ๋ยธรรมชาติ โดยมีเกษตรกรในพื้นที่คอยเป็นพี่เลี้ยงอย่างใกล้ชิด


บริษัท ไอ.ซี.ซี. อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด(มหาชน) ได้ดำเนินการสนับสนุนการทำงานของมูลนิอุทกพัฒน์ฯ เพื่อการบริหารจัดการน้ำ โดยเริ่มตั้งแต่ปี 2560 – ปัจจุบัน มีรายละเอียดดังนี้

  • ปี 2560  สนับสนุนงบประมาณ 3,325,999 บาท จากการจัดงานกาล่าดินเนอร์การกุศล พร้อมแสดงแฟชั่นโชว์คอลเลคชั่น  W B G “White Black  Gold” ภายใต้แนวคิดของ บุญเกียรติ โชควัฒนา ประธานกรรมการ บริษัท ไอ.ซี.ซี. อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด(มหาชน) เพื่อเชิญชวนให้สาธารณชนร่วมกันสวมใส่เครื่องแต่งกาย สีขาว ดำ ทอง เมื่อระลึกถึงพระองค์ท่าน และนำรายได้จากการจัดงานโดยไม่หักค่าใช้จ่าย เพื่อใช้ในกิจการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำชุมชน โดย บุญเกียรติ โชควัฒนา กล่าวเอาไว้ว่า“…เมื่อใดที่เราคิดถึงในหลวงรัชกาลที่ 9 เราจะแต่งตัวด้วยสี ขาว ดำ ทอง เพื่อระลึกถึงพระองค์ท่าน…โดย สีขาว แสดงถึงพระราชหฤทัยที่บริสุทธิ์, สีดำ แสดงถึงพระจริยาวัตรที่เรียบง่าย สมถะ พอเพียง และ สีทอง แสดงถึงพระปรีชาสามารถของพระองค์ที่เจิดจรัส ทรงคุณค่าที่พระองค์ได้พระราชทานให้แก่ปวงชนชาวไทย…”
  • ปี 2561 สนับสนุนงบประมาณ 2,000,000 บาท ดำเนินงานปรับปรุงและพัฒนาโครงสร้างเชื่อมโยงระบบน้ำในพื้นที่ พร้อมระบบกระจายน้ำในแปลงเกษตรผสมผสานตามแนวทฤษฎีใหม่โครงการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำชุมชน ของชุมชนสหกรณ์การเกษตรแบบรวมกลุ่มโครงการเพชรน้ำหนึ่ง จังหวัดเพชรบุรี โดยทำงานภายใต้การแนะนำของมูลนิธิอุทกพัฒน์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ ตามแนวทางบริหารจัดการน้ำของในหลวงรัชกาลที่ 9 โดยอาศัยเงินบริจาค และเงินจากการจำหน่ายสินค้า คอลเลคชั่น WBG (White Black Gold ) พัฒนาพื้นที่บริเวณดังกล่าว ซึ่งเดิมเป็นที่ดินสนามกอล์ฟร้าง ที่รัฐบาลซื้อจากภาคเอกชน เพื่อนำไปจัดสรรให้ราษฎรใช้เป็นที่ทำกิน แต่เนื่องจากที่ดินบริเวณนั้นยังไม่มีการพัฒนาโครงสร้างน้ำ และการวางระบบการนำน้ำไปใช้ สภาพดินในพื้นที่เป็นดินปนกรวดผสมลูกรัง ทำให้ไม่สามารถช่วยกักเก็บน้ำไว้ใช้ประโยชน์ในพื้นที่ได้เต็มศักยภาพ
  • ปี 2562 – 2563 สนับสนุนงบประมาณ 700,000 บาท ร่วมมือกับมูลนิธิอุทกพัฒน์ และชุมชน สร้างอาคารบรรจุและเก็บรักษาผลผลิต เพื่อจัดเก็บและตกแต่งผลผลิต บรรจุ ส่งตรงถึงผู้บริโภค โดยไม่ผ่านพ่อค้าคนกลาง ส่งตรงโกลเด้นท์เพลส ภายใต้ชื่อ “ไร่ชีวิตพอเพียงเพ็ชร์บุรี”
  • ปี 2564 สนับสนุนงบประมาณ 440,000 บาท สร้างหอเก็บน้ำต่างระดับจำนวน 10 หอ เพื่อนำน้ำจากสระขนาด 23 ไร่ กระจายแจกจ่ายให้ทั่วพื้นที่เพาะปลูกที่มีกว่า 500 ไร่ เพื่อให้เกษตรกร มีน้ำเพียงพอในการทำการเกษตรและอุปโภคบริโภค
  • ปี 2565 สนับสนุนงบประมาณ 180,500 บาท เพื่อปรับปรุงโรงเรือนสำหรับปลูกผัก
  • ปี 2566 สนับสนุนงบประมาณ 878,700 บาท พัฒนาโครงสร้างเชื่อมโยงระบบน้ำในพื้นที่เพิ่มเติม และติดตั้งระบบไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ สำหรับอาคารบรรจุและเก็บรักษาผลผลิต โดยการติดตั้งระบบดังกล่าว ส่งผลให้กลุ่มเกษตรกรชุมชนเพชรน้ำหนึ่ง สามารถลดค่าไฟฟ้าลงได้ เกือบ 30 %
Previous post Porsche Finder แพลตฟอร์มแห่งการซื้อรถสปอร์ตปอร์เช่ในฝัน สะดวก ครบ จบในคลิกเดียว
Next post ธอส. จัดผลิตภัณฑ์อัตราดอกเบี้ยพิเศษ ระหว่างวันที่ 21 – 23 มิ.ย. 2567 เอาใจชาวภาคเหนือตอนล่าง ในงานบ้าน ธอส. เอ็กซ์โป @พิษณุโลก ณ เซ็นทรัล พิษณุโลก
Social profiles